ตกเบิก เงินเดือน ครูเอกชน7หมื่นคน รับ11,680บาทเริ่มเดือนมกราคม


นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กช. เปิดเผยภายหลังการประชุม กช. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนในโรงเรียนเอกชน เพื่อปรับเงินเดือนครูวุฒิปริญญาตรีที่ยังไม่ถึง 15,000 บาท จำนวน 70,353 คน ให้ได้รับเงินเดือน 11,680 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณปี 2556 ประมาณ 1,858 ล้านบาทแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้เสนองบประมาณเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวเพื่อใช้ปรับเงินเดือนในระดับอนุบาล-ประถมศึกษา หัวละ 601 บาทต่อปี และระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา หัวละ 751 บาทต่อปี จากเดิมอนุบาลและประถมศึกษา อุดหนุนสมทบเงินเดือนครูรายหัวละ 4,406 บาท มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา อุดหนุนรายหัวละ 5,509.50 บาท ซึ่งขณะนี้กำลังรอการจัดสรรงบประมาณและจะสามารถจัดสรรเงินส่วนนี้เพื่อให้ตกเบิกย้อนหลัง 3 เดือนให้ในเดือนมกราคม 2556 ส่วนค่าครองชีพชั่วคราว 1,160 บาทต่อเดือน ที่รัฐจะจัดสรรให้ครูโรงเรียนเอกชนที่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จำนวน 87,000 คน ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้แล้วประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทนั้น ยังไม่ได้เบิกจ่ายเพราะรอตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง

"ส่วนในปี 2557 ที่รัฐกำหนดให้ปรับเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ที่ประชุม กช.ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่เป็นผู้แทนร่วมกับสำนักงบประมาณ และผู้แทนครูโรงเรียนเอกชนได้เข้าหารือกับคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎรที่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาร่วมกันศึกษาผลกระทบและจะพิจารณาเงินช่วยเหลือตามอัตราเงินเดือนใหม่ และหากได้ผลอย่างไรก็ให้เสนอที่ประชุมพิจารณาครั้งต่อไป" รองเลขาธิการ กช.กล่าว และว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์สำหรับโรงเรียนในระบบ พ.ศ.... ที่ได้กำหนดอัตราการหักเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนสะสมเข้ากองทุนและโรงเรียนจะอุดหนุนเพิ่มอีก 3% และรัฐอุดหนุนเพิ่มอีก 6% รวมทั้งหมด 12% โดยที่ประชุมได้ให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ไปพิจารณาร่างกฎกระทรวงอีกครั้งหนึ่งว่าควรต้องกำหนดเพดานเงินสูงสุดที่จะหักเงินครู ผู้อำนวยการ และบุคลากรโรงเรียนเอกชนเข้ากองทุนนี้ได้สูงสุดเดือนละเท่าไร รวมทั้งควรศึกษาผลดีผลเสียด้วย ซึ่งในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่าควรกำหนดเพดานสูงสุดที่ 1,500 บาทหรือเงินเดือนสูงสุด 50,000 บาท 

นายชาญวิทย์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การดำเนินการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ของสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา เพื่อให้นักศึกษาในอาชีวศึกษาเอกชนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อายุไม่ต่ำ 18 ปี และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีสามารถนำผลงาน ประสบการณ์วิชาชีพที่ทำอยู่มาเทียบโอนเพื่อเทียบหน่วยกิตได้ โดยจะใช้แนวทางเดียวกับการเทียบโอนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จะทำให้นักศึกษาได้จบการศึกษาเร็วขึ้น ทั้งนี้ สช.จะประกาศรายละเอียดในการเทียบโอนและสถานศึกษาที่จะรับเทียบโอนให้ทราบต่อไป